วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บาหยา (ย่าหยา)Ganges Primrose

บาหยา (ย่าหยา)Ganges Primrose







ชื่ออื่น   อ่อมแซบ ,ย่าหยา, บุษบาฮาวาย, บุษบาริมทาง (กรุงเทพฯ); ผักกูดเน่า (เชียงใหม่) 
ชื่อสามัญ: Ganges Primrose, Ganges River asystacia, Chinese violet, Coromandel, Creeping foxglove, Baya, Yaya,(Kannada: Meddhe soppu, Lavan-valli, Maithaala kaddi • Malayalam: Valli-upu-dali • Marathi: लवण वल्ली Lavana valli • Tamil: Parchorri, Chorri, Mekampokki • Telugu: Mukka mungera, Poda beera )
ชื่อพ้อง  Justicia gangetica L. 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Asystasia gangetica (L.) T. Anders.
ตระกูล: Scrophulariales
ชื่อวงศ์: Acanthaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มล้มลุก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ตั้งตรงหรือรอเลื้อย มีขน สูงถึง 1 เมตร 
 ใบ  ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ยาว 3-4.5 เซนติเมตร กว้าง 2.4-3.5 เซนติเมตร ใบรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน เส้นกลางใบมีขน ก้านใบยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม ผิวใบด้านหลังใบมีซิสโทลิท (cystolith) หรือผลึกของแคลเซี่ยมคาร์บอเนตที่ผิวใบสะสะมอยู่มาก 
ดอก ออกเป็นช่อกระจะ ออกที่ซอกใบและปลายยอด โดยดอกจะติดอยู่บนแกนช่อดอก และทยอยบานจากโคนช่อขึ้นไปตามปลายยอด ช่อดอกยาว 16 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 2-3 มิลลิเมตร ดอกรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ขนาดเท่ากัน ผิวด้านนอกมีขน ด้านในเรียบ ดอกสีขาว สีเหลือง หรือสีม่วงอ่อน กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาว โคนหลอดกว้าง 3 มิลลิเมตร ปลายหลอดกว้าง 1 เซนติเมตร กลีบรูปกึ่งกลมแกมรูปไข่กลับ ขนาด 0.7-1.2 × 0.8-1 เซนติเมตร กลีบกลางมีปากล่างสีม่วง หรือสีออกม่วงเข้มอมน้ำตาล กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ มีขน วงกลีบยาว 7 มิลลิเมตร แบ่งเป็นพู รูปหอกแกมรูปเส้นตรง ขนาด 5-7 × 1-1.2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีต่อมขน ที่ขอบมีขนอ่อนเล็กๆ ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ขนาด 5 มิลลิเมตร มี 2 แผ่น มีขน ใบประดับย่อย รูปหอกแกมรูปเส้นตรง ขนาด 1-2.5 มิลลิเมตร มีขน เกสรเพศผู้มี 4 อัน สีขาว เป็นอิสระ ก้านชูอับเรณูโค้งเข้าหากัน ก้านเกลี้ยง โคนเชื่อมติดบนหลอดกลีบดอก แบ่งเป็นสองคู่ คู่ยาว ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร คู่สั้น ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร อับเรณูขนาด  3 × 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ รูปรี ขนาด 3.5 มิลลิเมตร มีขน ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 1.8 เซนติเมตร มีขนคล้ายกำมะหยี่ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม 2 พู 
ผล  แบบแคปซูล ขนาด 1.3×2 เซนติเมตร  รูปทรงกระบอก มีขนปกคลุม  ผลแก่แตกเป็น 2 ซีก ภายในมี
เมล็ด 3-4 เมล็ด เมล็ดรูปไต แบน สีน้ำตาล ขนาด 3-5 × 0.5-3 มิลลิเมตร พบขึ้นตามที่รกร้าง ริมน้ำ ชายคลอง ทั่วไป ออกดอกราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม ติดผลราวเดือนธันวาคมถึงมีนาคม
การกระจายพันธุ์ : บาหยามีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบตั้งแต่ อัฟริกา อินเดีย ศรีลังกา และประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไป โดยเฉพาะตามชายหาด หรือปลูกเป็นไม้ประดับ 
สรรพคุณทางสมุนไพร
ราก  แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้พิษฝีภายใน แก้ไข้เหนือ ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วตัว
ใบ แก้ปวดบวม ปวดตามข้อ ขับพยาธิ ใบและดอก สมานลำไส้ ลดไข้ บรรเทาอาการเจ็บท้องคลอดลูก แก้พิษงู และแก้ม้ามโตในเด็กที่เกิดใหม่
ตำรายาไทย   ใบ แก้ปวดบวม แก้ปวดตามข้อ ถ่ายพยาธิ และเป็นพืชอาหาร ใช้กินเป็นผัก
ชนเผ่าทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ทั้งต้น ใช้รักษาโรคข้อรูมาติซึม ราก ใช้ภายนอก แก้ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ใบ รักษาเบาหวาน
ประเทศแอฟริกาใต้ใช้ ทั้งต้น กินเป็นผัก น้ำสกัดจากต้นใช้ขับพยาธิ แก้อาการบวม รักษาโรคข้อรูมาติซึม โรคโกโนเรีย รักษาโรคหู
 ประเทศไนจีเรียใช้ ใบ เป็นยาเฉพาะที่ รักษาหอบหืด

สถานที่  อำเภอรัตนบุรี  จังหวัดสุรินทร์
อ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. บาหยา. http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=233
มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย  .http://thaiherb-tip108.blogspot.com/2011/03/blog-post_25.html
สารานุกรมพืชในประเทศไทย.บาหยา.http://web3.dnp.go.th/botany/detail.aspx
Asystasia gangetica (L.) T. Anders. T. Anders. Acanthaceae. Ganges Primrose.
http://www.flowersofindia.net/catalog/slides/Ganges%20Primrose.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น